การทำบัญชีนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร/อาคารชุด ให้ถูกต้องและมีคุณภาพ

การทำบัญชีให้ถูกต้อง

การทำบัญชีนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร/อาคารชุดให้ถูกต้องหมายถึง การทำบัญชีให้ถูกต้องตาม พรบ.การจัดสรรที่ดิน ตาม พรบ.การบัญชี และตามประมวลรัษฎากร

 ถูกต้องตาม พรบ.การจัดสรรที่ดิน หมายถึง

  • ทำตาม พรบ.การจัดสรรที่ดินอย่างเคร่งครัด (กฎกระทรวงว่าด้วยการขอจดทะเบียนจัดตั้ง การบริหาร การควบคุม และการยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร)
  • อำนาจในการจัดเก็บค่าส่วนกลาง (ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และค่าสาธารณูปโภค)
  • มาตรการในการกำหนดค่าปรับกรณีผู้จ่ายค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และค่าสาธารณูปโภค ล่าช้า
  • การแจ้งระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรณีสมาชิกค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และค่าสาธารณูปโภค
  • การจัดให้มีการตรวจสอบบัญชี โดยให้คณะกรรมการบริหารดำเนินการ ให้มีการตรวจสอบบัญชีของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เพื่อตรวจสอบ และแสดงความเห็นต่องบการเงินของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้น รอบปีบัญชี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด 

ถูกต้องตาม พรบ.การบัญชี หมายถึง

ผู้ทำบัญชี

  • มีคุณสมบัติและเงื่อนไขที่อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนด
  • ประกาศกรมทะเบียนการค้ากำหนดคุณสมบัติ และเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชีปี 2543 ใช้ตั้งแต่ 10 ส.ค.54 เช่น มีคุณสมบัติ และถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร มีความรู้ภาษาไทย ไม่เคยต้องโทษกฎหมายบัญชี หรือผู้สอบบัญชี เป็นต้น
  • ควบคุมดูแลการทำบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ตรงความเป็นจริง และถูกต้อง
  • จัดให้มีการทำบัญชี ตามมาตรฐานการบัญชี

การทำบัญชี 

  • ต้องครบถ้วนถูกต้องตามที่อธิบดีประกาศกำหนดเกี่ยวกับ ดู ประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่อง กำหนดชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ ข้อความและรายการ ที่ต้องมีในบัญชี ระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชี และเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๔ 

ชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ

  • บัญชีรายวัน เช่น บัญชีรายวันซื้อ รายวันขาย รายวันทั่วไป
  • บัญชีเงินสด บัญชีเงินฝากธนาคาร
  • บัญชีสินค้าคงคลัง

ข้อความและรายการที่ต้องมีในบัญชี

  • บัญชีเงินสดหรือบัญชีธนาคาร ให้มีรายละเอียดการได้มาหรือจ่ายไปซึ่งเงินสด เงินในธนาคาร เน้นที่มีในเอกสาร
  • บัญชีรายวันซื้อหรือบัญชีรายวันขาย ให้มีรายละเอียด ชนิด ประเภท จำนวน และราคาของสินค้าหรือบริการที่ซื้อขาย แต่ถ้ามีรายละเอียดดังกล่าวในเอกสารประกอบการลงบัญชี
  • บัญชีรายวันทั่วไป ให้มีคำอธิบายรายการบัญชี
  • บัญชีแยกประเภทสินทรัพย์ หนี้สินและทุน ให้มีรายละเอียดการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของสินทรัพย์ หนี้สินและทุน โดยให้อ้างชนิดของบัญชีและหน้าบัญชีหรือรหัสที่อ้างอิงด้วย
  • บัญชีแยกประเภทรายได้และค่าใช้จ่าย ให้มีรายละเอียดที่มาแห่งรายได้หรือค่าใช้จ่าย โดยให้อ้างชนิดของบัญชีและหน้าบัญชีหรือรหัสที่อ้างอิงด้วย
  • บัญชีแยกประเภทลูกหนี้หรือบัญชีแยกประเภทเจ้าหนี้ ให้มีชื่อลูกหนี้หรือเจ้าหนี้การแสดงรายการบัญชีให้มีรายละเอียดการก่อหนี้หรือระงับหนี้ การลงรายการดังกล่าวให้อ้างชนิดของบัญชีและ
  • หน้าบัญชีหรือรหัสที่อ้างอิงด้วย
  • บัญชีสินค้า ให้มีชื่อ ชนิด จำนวน หน่วยนับ รายละเอียดการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินค้า และจำนวนสินค้านั้น 

เอกสารที่ต้องใช้ประกอบในการลงบัญชี

  • จัดให้มีเอกสารประกอบการลงบัญชีได้แก่ บันทึก หรือเอกสารใดๆที่ใช้เป็นหลักฐานในการลงรายการในบัญชี
  • ส่งมอบเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีให้ผู้ทำบัญชี เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของใบสำคัญรับ-จ่าย ฯลฯถูกต้องครบถ้วนเพื่อให้บัญชีที่จัดทำขึ้นให้สามารถแสดงผลการดำเนินงานฐานะการเงินหรือการเปลี่ยนแปลง ฐานะการเงินที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริงและตาม มาตรฐานการบัญชี

ปิดบัญชีและจัดทำงบการเงิน

  • ปิดบัญชีครั้งแรกภายใน 12 เดือน นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 30 เมษายน
  • จัดทำงบการเงิน
  • จัดให้งบการเงินได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันสิ้นรอบบัญชี โดยคณะกรรมการบริหารจะต้องแต่งตั้งผู้สอบบัญชีขึ้นเพื่อการตรวจสอบบัญชี

การยื่นงบการเงิน

  • ยื่นงบการเงินต่อ กรมที่ดินภายในจังหวัดภายใน 3 เดือนนับวันแต่สิ้นรอบระยะเวลาบัญชี

เก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี

  • เก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี ไว้ ณ สถานที่ทำการ
  • เก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันปิดบัญชี

 

ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร

หมายถึงการวางแผนภาษีของนิติบุคคล หมู่บ้านจัดสรร/อาคารชุด เพื่อให้นิติบุคคลฯได้รับประโยชน์สูงสุด ภายใต้เงื่อนไขที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการวางแผนอย่างรัดกุมเพื่อป้องกันภาระที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตของกิจการ ดังนั้นการวางแผนภาษี (Tax Planning) ไม่ใช่เป็นการหลบเลี่ยงภาษี (Tax Avoidance) หรือหนีภาษี (Tax Evasion) ก่อนที่จะมีการวางแผนภาษีนั้นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของการวางแผนภาษีดังต่อไปนี้

ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย

ในการวางแผนภาษีอากรผู้วางแผนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจตัวบทกฎหมายของนิติบุคคลฯ อย่างชัดเจนถูกต้อง ไม่หลงลืมประเด็นหนึ่งประเด็นใดในตัวบทกฎหมายภาษีอากร นอกจากนี้จะต้องศึกษาคำพิพากษา และข้อหารือของกรมสรรพากรประกอบการวางแผนภาษีอากรให้รัดกุมครบถ้วน 

ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด

จะต้องศึกษาข้อกฎหมายที่จะทำให้นิติบุคคลฯ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด โดยการกำหนดทางเลือกในการนำเงื่อนไขทางกฎหมายมาใช้ให้นิติบุคคลฯ ได้รับประโยชน์สูงสุดและถูกกฎหมายอีกด้วย เช่น รายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และเรื่องของการที่ไม่ต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่

  • การจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมโอนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณูปโภค และบริการสาธารณะ
  • รายได้ค่าจากการจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และการจัดการสาธารณูปโภคจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรซึ่งเป็นสมาชิกของนิติบุคคลฯนั้น

ปลอดภัยจากภาระที่อาจจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า

การวางแผนภาษีอากรจะต้องคำนึงถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากมุมมองของผู้วางแผนขาดความรอบครอบในการศึกษาตัวบทกฎหมายได้อย่างถูกต้องแล้วอาจเกิดปัญหาได้ในอนาคตโดยถูกสรรพากรเรียกตรวจสอบและประเมินภาษี ทำให้นิติบุคคลฯ มีรายจ่ายเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและสมเหตุผล

เมื่อมีการวางแผนภาษีอากรในเรื่องหนึ่งเรื่องใดจะต้องมีการยกกฎหมายมาอ้างอิงให้ชัดเจน สามารถตอบคำถามในปัญหาต่าง ๆ ในประมวลรัษฎากร คำพิพากษา ข้อหารือของกรมสรรพากร หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องสามารถหาคำตอบได้เป็นที่ยอมรับของฝ่ายจัดการหรือฝ่ายบริหารอย่างไม่มีข้อสงสัย และเชื่อถือได้ในข้อมูลที่นำมาอ้างอิงเพื่อการวางแผนภาษี

 

การทำบัญชีให้มีคุณภาพ

การทำบัญชีให้มีคุณภาพจะประกอบด้วย แนวปฏิบัติ ดังนี้

การจัดระบบการทำงานให้สอดคล้องกับโปรแกรมบัญชี

  • พยายามปรับระบบการทำงานให้เข้ากับโปรแกรมบัญชีมากที่สุด เพื่อลดปัญหาการเขียนโปรแกรมเพิ่ม
  • ทดลองนำข้อมูลเข้าในแต่ละระบบ และตรวจสอบ และปรับปรุง แก้ไข
  • ใช้จริง ติดตามผล และปรับปรุงแก้ไข

กำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดที่เป็นไปได้

เป็นการกำหนดเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น

  • ปิดบัญชีตรงเวลา 90%
  • จำนวนบัญชีที่ต้องแก้ไขหลังจากที่ปิดแล้ว ไม่เกิน 3% ของรายการบัญชีทั้งหมด
  • จำนวนข้อบกพร่องที่ได้จากการตรวจสอบ 2จุดต่อเดือน
  • จำนวนครั้งที่ปิดบัญชีช้า

มีการตรวจสอบติดตาม และปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนนี้จะเป็นการตั้งคณะกรรมการคุณภาพ เพื่อตรวจสอบ ติดตาม และปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ภารกิจหลักของคณะกรรมการคุณภาพได้แก่

  • กำหนดมาตรฐานคุณภาพในการทำงาน
  • พิจารณาให้ความเห็นชอบในการทำงานคุณภาพ
  • กำหนดระยะเวลาการตรวจสอบ
  • จัดทำรายงานและกำหนดแนวทางการแก้ไข 

 

 

ลองพิจารณาดูว่าสำนักงานที่ดูแลบัญชีของท่านมีคุณสมบัติดังกล่าวครบหรือไม่.....